วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คนไทยดื่มนมน้อยกว่าประเทศอื่นทั่วโลก 4-7 เท่า

คนไทยดื่มนมน้อยกว่าประเทศอื่นทั่วโลก 4-7 เท่า

คนไทยดื่มนมน้อยกว่าประเทศอื่นทั่วโลก 4-7 เท่า

www.voicetv.co.th
สนับสนุนเนื้อหา
กรมอนามัย เผยคนไทยดื่มนมน้อย เฉลี่ยคนละ 14 ลิตรต่อปี ต่ำกว่าประเทศในอาเซียนและทั่วโลก 4-7 เท่า ส่งผลต่อความสูง พร้อมหนุนให้เด็กดื่มนมจืดวันละ 2-3 แก้ว
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 พบว่าคนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคอาเซียนเฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ย 103.9 ลิตรต่อปี หรือคนไทยดื่มนมน้อยกว่าประเทศในอาเซียนและโลก 4-7 เท่า ส่งผลให้เด็กไทยเมื่ออายุ 19 ปี ไม่สูง โดยชายสูงเฉลี่ย 169.5 ซม. หญิงสูงเฉลี่ย 157.7 ซม.
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า นมสดรสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูก มีผลต่อความสูง ซึ่งจากสถิติเปรียบเทียบระหว่างนมโคสดแท้ นมรสหวาน นมเปรี้ยว 100 มิลลิลิตร พบว่า นมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ โปรตีน 3.3 กรัม แคลเซียม 122 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม วิตามินบี 2 0.21 มิลลิกรัม
ในขณะที่นมปรุงแต่ง รสหวานกลับให้สารอาหารที่จำเป็นน้อยกว่าคือ โปรตีน 2.3กรัม แคลเซียม 101 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม และวิตามินบี2 0.20 มิลลิกรัม
ทั้งนี้ การดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ร่วมกับการทำกิจกรรมทางกายที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ บาสเก็ตบอล และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นการเพิ่มฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ส่งผลต่อการเพิ่มความสูงได้
นอกจากนี้ วัยผู้ใหญ่ที่ต้องการสารอาหารเพิ่ม แนะนำให้ดื่มนมสดรสจืดวันละ 1-2 แก้วส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกินดื่มวัน ละ 1-2 แก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น