วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มากกว่าของเล่น 'แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ' เจ้าของอาณาจักรของเล่นใหญ่ที่สุดในประเทศ

หากยังจำกันได้ 3 ปีก่อน ประเทศไทยมีอีเวนต์ของเล่นที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรกเกิดขึ้นในชื่องาน ‘Thailand Toy Expo 2013’ งานนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนในแวดวงของเล่น ของสะสม เพราะช่วยกระตุ้นให้สังคมคนสะสมของเล่นคึกคัก ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ’แพร - แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ’ นักธุรกิจสาววัย 28 ปี ผู้ก่อตั้ง ‘Play House’ ร้านขายของเล่นลิขสิทธิ์จากดีสนีย์ และงานทอยดีไซด์ ที่ครบวงจรที่สุดในเมืองไทย

เดิมทีก่อนที่จะมาจับธุรกิจนี้เธอสารภาพตรงๆ ว่าไม่มีประสบการณ์ในแวดวงของเล่นเลย แต่จากการชักชวนของน้องชายให้มาช่วยงาน Thailand Toy Expo ทำให้เธอมองเห็นโอกาส เลยลงมือศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจนี้เกือบ 2 ปีก่อนเปิดอาณาจักรของเล่นอย่างที่ตั้งใจ และไม่นาน Play House ก็กลายเป็นร้านของเล่นที่โดนใจนักสะสมทั้งไทยและเทศ ด้วยบริการที่เอาใจใส่ เป็นกันเอง และมีสินค้าให้เลือกเยอะ ล่าสุด Play House เพิ่งคว้ารางวัล ‘Best Toy Store 2015’ จากงาน Designer toy awards ในฐานะร้านขายงานทอยดีไซน์ที่ดีที่สุดในโลก ผ่านการโหวตโดยลูกค้าทั่วโลก รวมถึงงาน ‘Thailand Toy Expo’ ที่เธอจัดต่อเนื่อง 3 ปีติด ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีถึงขั้นเตรียมจัดปีที่ 4 แล้ว สำหรับคนอื่นอาจมองว่าของเล่นเป็นเรื่องเล่นๆ แต่สำหรับเธอของเล่นให้อะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งเธอได้แชร์ให้เราฟังในวันนี้
ตอนเริ่มทำ ‘Play House’ มีแต่คนไม่เห็นด้วย คิดว่าของเล่นจะไปทำกำไรอะไร รวมถึงหลายคนยังคงมองว่าของเล่นเป็นเรื่องสำหรับเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วอายุเท่าไหร่ก็สะสมได้ ดังนั้นกว่าจะเปิดตลาดได้ก็ยากพอสมควรเพราะที่ผ่านมาไม่มีใครทำธุรกิจอย่าง เรามาก่อน เราถือว่าเป็นคนแรกๆ ที่สร้างกระแสในวงการของเล่น ของสะสมในเมืองไทย เป็นคนแรกที่จัดงานของเล่น ‘Thailand Toy Expo’ ถึง 3 ปีติดกัน (ร่วมกับน้องชาย ‘พงศธร ธรรมวัฒนะ’) และเราเป็นคนแรกที่เปิดร้านของเล่น และขายงานทอยดีไซด์ อย่างเต็มรูปแบบที่สุดในเมืองไทย เลยทำให้เราเป็นตัวเลือกแรกๆ ของลูกค้าเสมอหากจะหาของที่เขาต้องการ จนถึงวันนี้ก็ 1 ปีครึ่งแล้ว ‘Play House’เติบโตได้อย่างน่าพอใจ มีโอกาสขยายสาขาไปยังที่ต่างๆ ลูกค้าแวะเวียนมาเสมอทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ยอดขายดีขึ้น เริ่มไปได้ด้วยตัวของมันเอง
ยังมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ แม้วันนี้ Play House จะขายดี พอเป็นที่รู้จักบ้างแล้ว แต่เรายังไม่รู้เรื่องในกระบวนการทำงานทั้งหมด ลองผิดลองถูกก็เยอะ เราเคยคิดว่าเรารู้ใจผู้บริโภคดีแล้ว แต่ในความเป็นจริง play House สาขาอื่นผู้บริโภคไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนกัน ทุกอย่างต่างกันหมดเลย แพรจึงต้องเรียนรู้ใหม่ ทุกอย่างที่สอนเรามาจากลูกค้า พนักงาน และประสบการณ์ล้วนๆ แพรมองว่าช่วง 1 ปีครึ่งที่เราดำเนินกิจการมานั้นเป็นช่วงเวลาที่เรากำลังเรียนรู้ สร้างประสบการณ์และภูมิคุ้มกันให้เรามากขึ้น เพื่อที่ปีต่อๆ ไปจะได้เก็บประสบการณ์นั้นมาพัฒนาร้านต่อไป และเข้าใจในผู้บริโภคมากขึ้น
ตัวอย่างที่ดีไม่ใช่แค่คำสอน แพรทำงานคู่กับพนักงานเสมอเพื่อให้เห็นว่าเขาไม่ได้ทำงานคนเดียว แพรก็ทำด้วย เราไม่ใช่เจ้านายประเภทนั่งอยู่เฉยๆ รอนับเงิน ทุกคนลำบากยังไง แพรลำบากเท่ากัน พนักงานกลับเที่ยงคืน แพรกลับตี 1 พนักงานมาแปดโมง แพรมา 7 โมง เราทำให้พวกเขาเห็นว่าเราทุ่มเทมาก ในร้านแพรทำมาหมดทุกตำแหน่ง (หัวเราะ) เป็นพนักงานขาย แคชเชียร์ แม่บ้าน แบกของ ส่งของ แพรมักบอกเสมอว่าถ้าวันไหนขาดคนให้เรียกแพรเป็นคนแรก เพราะแพรน่าจะเป็นคนที่ว่างที่สุดแล้ว (หัวเราะ) ต่อให้ยุ่งแค่ไหนแพรก็มาเพราะมันคือร้านของเรา ไม่ต้องเกรงใจ

แพรเชื่อในการตัดสินใจของคนอื่น ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร แพรต้องเชื่อเพราะเขารู้ดีกว่าเราแน่นอน ไม่อย่างนั้นจะจ้างมาทำไม (หัวเราะ) เราจะไม่ใช่เจ้านายประเภททุกอย่างต้องตามฉันเท่านั้น แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเราก็จะถามก่อนอยู่แล้วว่าสิ่งที่คุณเสนอมันดีใช่ไหม ถ้าคุณเห็นว่ามันดีกับร้านแพรก็จะเชื่อ เราเป็นคนที่เปิดรับความคิดเห็นคนอื่น กล้าที่จะเรียนรู้ ไม่ยึดติดว่าเราเป็นใคร แล้วคนที่สอนเราเป็นใคร มัวแต่ยึดติดว่าเราต้องเป็นที่หนึ่งก็จะทำให้คนทำงานด้วยลำบากเปล่าๆ หลายประสบการณ์จากการทำงานส่วนหนึ่งเราก็ได้มาจากพนักงานของเรานั่นแหละที่ สอนเราทั้งทางตรง และทางอ้อม
ลูกค้ากลับมาหาเพราะความเป็นกันเอง ลูกค้าสนิทกับพนักงานเหมือนเพื่อน ไม่ซื้อแวะมาคุยเล่นก็มี มันเลยตรงกับคอนเซปต์ที่เราสร้างPlay House ขึ้นมานั่นก็คือแพรอยากทำให้ร้านนี้เป็นเหมือนบ้านใหม่ของทุกคน ลูกค้าสามารถเดินดูรอบร้าน ถ่ายรูปของเล่นเราได้หมดขณะที่หลายร้านหวงไม่ยอมให้ถ่าย ล่าสุดมีลูกค้าจากไต้หวันมาดูของที่ร้านแล้วขอถ่ายรูปไป เราก็อนุญาต และให้เขาหยิบของเล่นมาถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งในเวลาต่อมาเขานำเรื่องนี้ไปเขียนลงบล็อคชมว่าร้านเรามีมารยาท ใจดี ไม่หวงของ ไม่นานคนที่อ่านบล็อคเขาก็แวะมาเยี่ยมร้านเราเยอะมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
แพร เป็นคนประเภท ‘ทำดีเสมอตัว ทำชั่วขาดทุน’ คนที่ไม่รู้จักแพรส่วนใหญ่คิดว่าเราใช้เงินของที่บ้านมาทำธุรกิจ จะทำธุรกิจอะไรก็ได้ ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เอาเงินมาโยนทิ้งๆ ขวางๆ ไป ซึ่งความเป็นจริง เงินที่ลงทุนมาจากเงินที่แพร ไปกู้ธนาคารมา มีเพียงส่วนน้อยที่แพร ขอกู้แม่ ไม่ใช่ขอไปเลย เรากู้ธนาคารมา 90% อีก 10% ขอยืมแม่ แพรก็เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยการเป็นหนี้ เหมือนกับหลายๆ คนนั่นแหละ หรือต่อให้แม่แพรมีเงินมหาศาลเราก็ไม่ขอ เพราะเราอยากทำสิ่งที่เรารักด้วยตัวเอง ถ้าแพรขอเงินแม่มาทำสร้างธุรกิจของตัวเอง แล้วความภูมิใจมันอยู่ที่ไหน มันพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่าเป็นฝีมือเรา
My Profile
การศึกษา : ปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยคิงส์ตัน คอลเลจ ประเทศอังกฤษ
อาชีพ : ผู้ก่อตั้งร้าน Play House, กรรมการบริหาร บริษัท เพลย์ เฮ้าส์ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท รีเทล มี จำกัด
After work
ปกติแพร ทำงานทุกวัน วันธรรมดาทำงานที่ออฟฟิศ เสาร์ อาทิตย์ ไปดูร้านสาขาต่างๆ ดังนั้นถ้าว่างจริงๆ แพร จะอยู่เฉยๆ (หัวเราะ) ดูซีรีย์ไปเรื่อยๆ ค่ะ ซึ่งเดือนนึงจะมีแค่ไม่เกินสองวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น